วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ตอนที่ ๖ การแสดงและการละเล่นต่างๆ ของชาวสยาม

มองสยามประเทศ ปี พ.ศ ๒๒๓๐ ผ่านจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์
ตอนที่ ๖ การแสดงและการละเล่นต่างๆ ของชาวสยาม
  • ๑. วิธีจับช้างเถื่อน สถานที่จัดให้ช้างอยู่เพื่อเลือกจับคล้ายสนามเพลาะขนาดกว้างและยาวพอใช้ ใช้ในการพูนดินเป็นพนังขึ้นมา เกือบจะตรงเป็นทางดิ่งทุกด้าน บนเนินดินเป็นที่นั่งชมของคนดู ที่ตรงกลางวงล้อมเนินดินปักเสาไม้รายรอบสองแถวสูง ๑๐ ฟุต ลงในดิน เสามีขนาดใหญ่พอที่จะทานกำลังช้างดันได้ และห่างกันพอที่คนจะลอดช่องเสาได้สะดวก ระหว่างเสาเพนียดสองชั้นนี้ ใช้เป็นที่ช้างพังเชื่อง ซึ่งเขาส่งเข้าไปในป่าเพื่อล่อช้างพลายเถื่อนมา หมอช้างที่ขี่ไปนั้น ใช้ใบไม้บังไพรกำบังตนเพื่อกันมิให้ช้างเถื่อนในป่าหวาดตื่น เมื่อช้างพลายเข้าไปในฉนวนแล้ว ประตูที่มันใช้งวงเปิดผลักผ่านเข้าไปก็กลับปิดลง ส่วนประตูด้านหน้าทางที่ช้างเถื่อนออกไปได้ เขาก็ปิดกั้นให้แน่นหนา คนที่แฝงอยู่ตามรอบนอกริมเสาเพนียดโดยช้างเถื่อนเข้าไม่ถึงตัวก็จะเข้าช่องเสารุมล้อมกันทุกด้านเพื่อล่อกวนผัดช้างให้ไล่ เมื่อช้างไล่คนก็หนีลอดหลบออกมานอกเสาเพนียด คนอื่นๆ ก็เอาเชือกบาศก์เหวี่ยงทอดไปอย่างชำนาญ คล้องตีนหลังช้างตีนใดตีนหนึ่งไว้ ดึงปลายเชือกบาศก์รัดข้อตีนช้างไว้ เชือกบาศก์นี้เป็นเชือกเส้นใหญ่ผูกเป็นบ่วงเชือกกระทบ
  • เมื่อเชือกบาศก์รัดข้อตีนช้างแล้วก็ปล่อยผ่อนเชือกไป เมื่อช้างเถื่อนคืนสู่สภาพปกติ เขาก็ใช้ถังตักน้ำเย็นราดตัวมันให้ชุ่มเย็น จัดการผูกปลายเชือกบาศก์เข้ากับเสาเพนียด แล้วนำช้างพลายที่ฝึกไว้ดีแล้วเดินถอยหลังเข้าไปในซองฉนวน ผูกล่ามคอมันกับคอช้างเถื่อน ปลดเชือกบาศก์ออกจากเสาเพนียดแล้วใช้ช้างต่ออีกสองเชือกเข้ามาช่วยผนึกกำลัง สองเชือกเข้าขนาบช้าง เชือกที่สามเข้ารุนด้านหลัง ขะโลงช้างเถื่อนไปสู่ปะรำใกล้ๆ กันนั้น ผูกล่ามมันไว้และผูกคอผนึกแน่นกับเสาปะโคมใหญ่ ผูกอยู่เพียง ๒๔ ชั่วโมง ระหว่างนี้จะนำช้างต่อมาอยู่เป็นเพื่อน และปลอบใจ ๒ - ๓ เที่ยว จากนั้นนำมันไปยังโรงที่จัดไว้ให้อยู่ ๘ วันก็จะเชื่อง
  • ๒. การชนช้าง ได้เห็นช้างศึกสองเชือกชนกัน ตีนหลังของช้างศึกทั้งคู่ถูกผูกเชือกพวนไว้ มีหลายคนยืดหางเชือกพวนและมัดหางเชือกไว้กับหลัก ไว้ระยะห่างกัน จนจากที่ช้างทั้งสองเชือกจะประสานงวง ในขณะเข้าปะทะกันได้ ช้างแต่ละเชือกมีหมอควาญประจำคอยบังคับ เมื่อปล่อยให้สู้กัน ๕-๖ พัก ก็เป็นอันจบ แล้วจัดช้างพังเข้ามาล่อแยกช้างศึกออกจากกัน
  • ๓. การชนไก่ ชาวสยามชอบการชนไก่มาก การชนไก่ลงเอยด้วยการตายของคู่ต่อสู้ พระเจ้ากรุงสยามจึงได้ทรงให้ออกประกาศห้ามการชนไก่เสีย
  • ๔. ละครจีน (งิ้ว) คนสยามชอบไปดูทั้งๆ ที่ฟังไม่รู้เรื่อง
  • ๕. การแสดงหุ่นกระบอก เป็นใบ้ไม่ออกเสียง หุ่นกระบอกจากลาว คนชอบดูมากกว่า
  • ๖. นักไต่ลวดและการเล่นไม้สูงนับว่าดีมาก ราชสำนักมักจัดให้มีการแสดงถวายเสมอ เมื่อเสด็จไปเมืองละโว้
  • ๗. พระเจ้ากรุงสยามโปรดการแสดงไม้สูงมาก เคยมีการตายกันขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้ว
  • ๘. งูเลี้ยงจนเชื่อง สัตว์จำพวกเดียวที่ชาวสยามฝึกไว้คือ งูขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าดุร้ายนัก ต้องนับว่าเป็นกระบวนกรเล่นกลมากกว่า
  • ๙. งานมหรสพทางศาสนาตามไฟในน้ำ บนบก และในพระบรมมหาราชวัง ชาวสยามมีมหรสพเนื่องในการพระศาสนาด้วย ถึงฤดูน้ำเริ่มลดประชาชนพลเมือง จะแสดงความขอบคุณแม่คงคา ด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืนทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ (กระทง) น้อยใหญ่ และมีกระดาษสีต่างๆ ประดับประดากระทง เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่คงคาที่ช่วยให้เก็บเกี่ยวพืชพรรณธัญญาหารได้อุดสมบูรณ์
  • ในวันต้นๆ ของปีใหม่ ชาวสยามจะตามประทีปโคมไฟอย่างมโหฬารอีกครั้ง ที่เมืองละโว้ได้เห็นกำแพงเมืองตามประทีปโคมไฟ สว่างไสวเรียงรายอยู่เป็นระยะๆ ภายในพระราชวังยิ่งงดงามขึ้นไปอีก
  • ๑๐. ดอกไม้เพลิงที่งามมาก ไม่เคยเห็นดอกไม้เพลิงที่ไหนจะดีเท่าที่พวกชาวจีนที่อยู่ในสยามทำขึ้น พวกจีนตามประทีปโคมไฟอย่างมโหฬารในเทศกาลขึ้นปีใหม่
  • ๑๑. ว่าวกระดาษ เป็นการละเล่นสนุกของราชสำนักทุกแห่งในชมพูทวีปในฤดูหนาว บางทีก็ผูกโคมประทีปขึ้นไปกับว่าวดูเหมือนดวงดาว ว่าวของพระเจ้ากรุงสยามปรากฎในท้องฟ้าทุกคืนตลอดเวลาสองเดือนของฤดูหนาว และทรงตั้งขุนนางให้คอยเปลี่ยนเวรกันถือสายป่านไว้
  • ๑๒. มหรสพสามอย่างของชาวสยาม ประเภทเล่นโรงมีอยู่สามอย่างเรียกว่า "โขน" ผู้แสดงสวมหน้ากากและถืออาวุธ แสดงบทหนักในทางสู้รบกันมากกว่าการร่ายรำ หน้ากากส่วนใหญ่น่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร (ลิง) หรือไม่ก็เป็นหน้าปีศาจ (ยักษ์) มหรสพที่เรียกว่า ละคร เป็นบทกวีนิพนธ์สุดดีความกล้าหาญแกมนาฎศิลป์ ใช้เวลาแสดงถึงสามวัน ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงเจ็ดโมงเย็น ตัวเรื่องนั้นเป็นคำกลอนแสดงให้เห็นเป็นจริงจัง ตัวแสดงที่อยู่ในฉากนั้นหลายคนจะผลัดกันร้อง
  • เมื่อถึงบทของตัว ตัวละครตัวหนึ่งขับร้องในบทของตัวชื่อเรื่องตัวแสดงอื่นๆ ก็ขับร้องตามบทของบุคคลที่เรื่องนั้นกล่าวพาดพิงถึง ตัวละคนชายเท่านั้นที่ขับร้อง ตัวละครหญิงไม่ขับร้องเลย ส่วนระบำ เป็นการฟ้อนรำร่วมกันทั้งชายและหญิง ไม่มีบทรบราฆ่าฟัน มีแต่เชิงโอ้โลมปฎิโลมกัน นักระบำชายหญิงสวมเล็บปลอมยาวมาก ทำด้วยทองเหลืองเขาร้องไปรำไปพร้อมๆ กัน มีชายสองคนมาเจรจากับคนดูดด้วยถ้อยคำตลกโปกฮา
  • คนหนึ่งกล่าวในนามของผู้แสดงฝ่ายชาย อีกคนในนามฝ่ายหญิง ผู้แสดงดังกล่าวไม่มีเครื่องแต่งตัวแปลกอะไร โขนกับระบำมักไปแสดงในงานปลงศพ อาจไปเล่นในงานอื่นๆ บ้าง ละครมักไปเล่นในงานฉลองอุโบสถ หรือวิหาร ที่สร้างใหม่ ในโอกาสอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน
  • ๑๓. มวยปล้ำและมวยชก การฉลองวัดมีการวิ่งวัว และการกีฬาเครื่องสนุกสนานอย่างอื่นด้วย เช่น มวยปล้ำ และมวยที่ต่อสู้กันด้วยศอกและหมัด นักมวยพันมือด้วยด้ายดิบสามหรือสี่รอบ แทนกำวงแหวนทองแดง เช่นที่พวกลาวใช้ในการชกมวยประเภทนี้
  • ๑๔. การวิ่งวัว จะจัดพื้นที่ขนาดประมาณ ๕๐๐ วา กว้างประมาณสองวา ด้วยเสาสี่ต้นปักไว้มุมละต้นเป็นหลักเขต การวิ่งวัวทำกันนอกหลักเขตนี้ ตรงกลางพื้นที่ที่จัดไว้สร้างร้านสำหรับผู้ตัดสิน และเป็นที่หมายศูนย์กลางของจุดเริ่มต้นของวัว ที่จะออกวิ่งด้วย บางทีก็เป็นการวิ่งแข่งระหว่างวัวคู่หนึ่ง ตัวต่อตัวแต่ละตัวมีพี่เลี้ยงจูงวิ่งมาสองคน ถือสายเชือกที่สนตะพายจมูกไว้ ขนาบมาข้างละคน และวางคนไว้เป็นระยะๆ คอยผลัดเปลี่ยนคนวิ่ง แต่โดยมากมักให้วัวคู่หนึ่งเทียมคันไถ แข่งกับวัวอีกคู่หนึ่งเทียมคันไถเช่นกัน
  • มีคนวิ่งตามทั้งขวาและซ้ายเหมือนอย่างแข่งวัวตัวต่อตัว มีอีกคนหนึ่งคอยยกไถแล้ววิ่งตามด้วย คนที่จะเข้าผลัดเปลี่ยนคนยกไถระยะถี่กว่าพวกจูง การวิ่งจะวิ่งเวียนขวาไปในทางเดียวกัน วิ่งเวียนไปรอบหลักทั้งสี่หลายรอบ จนฝ่ายหนึ่งวิ่งทับอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ดูล้อมวงอยู่รอบนอก การวิ่งวัวนี้มีการพนันขันต่อด้วย การแข่งขันบางทีก็เปลี่ยนเป็นวิ่งควายด้วย
  • ๑๕. การแข่งเรือ การแข่งเรือเป็นกีฬามากกว่าการละเล่น ชาวสยามเลือกเรือยาวสองลำมาเปรียบสัดส่วนให้เท่ากันทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ แล้วแบ่งออกเป็นสองพวก เพื่อพนันขันต่อกัน พวกกรรมการลุกขึ้นยืนทำจังหวะเร่งเร้า พวกฝีพายส่งเสียงร้องอย่างน่าเกรงขาม คนดูก็เปล่งเสียงร้องและออกท่าทาง
  • ๑๖.การรักที่จะเล่นการพนัน ชาวสยามรักการเล่นการพนันมาก จนฉิบหายขายตน หรือไม่ก็ขายบุตรธิดาของตน (ไปเป็นทาส) การพนันที่ชอบเล่นมากที่สุดคือ "สกา" ซึ่งดูเหมือนจะได้เรียนการเล่นมาจากชาวปอร์ตุเกศ ชาวสยามไม่เล่นไพ่เลย เขาเล่นหมากรุกตามแบบของเราและแบบของจีน
  • ๑๗. ชาวสยามชอบยาเส้น พวกผู้หยิงก็นิยมสูบกันชาวสยามได้ยาสูบมาจากเมืองมนิลา เมืองจีน และที่ปลูกขึ้นเอง
  • ๑๘. การใช้ชีวิตตามปกติของชาวสยาม ชายชาวสยามรักลูกเมียมาก ในระหว่างที่พวกผู้ชายถูกเกณฑ์ไปเข้าเวรยาม มีกำหนดหกเดือนนั้นในทุกปีนั้น เป็นภาระของภรรยา มารดา และธิดา เป็นผู้หาอาหารไปส่งให้ และเมื่อพ้นเกณฑ์แล้วกลับมาอยู่บ้าน ผู้ชายส่วนมากก็ไม่ทำงานอะไรเป็นล่ำเป็นสัน ชีวิตตามปกติของชาวสยามเป็นไปด้วยความเกียจคร้าน ไม่เที่ยวล่าสัตว์ ได้แต่นั่งเอนหลัง กิน เล่น สูบบุหรี่ แล้วก็นอนไปวันๆ ภรรยาจะปลุกให้เขาตื่นประมาณเจ็ดโมงเช้า เอาอาหารมาให้กิน เสร็จแล้วก็นอนใหม่ พอเที่ยงก็ลุกมากินอีก แล้วเอนหลังใหม่จนกินอาหารมื้อเย็น เวลาที่เหลืออยู่นอกนั้นจะหมดไปด้วยการพูดคุย และเล่นการพนัน พวกภรรยาไปไถนา ไปซื้อขายของในเมือง

ตอนที่ ๑ เครื่องนุ่งห่ม และรูปร่างหน้าตาของชาวสยามhttps://www.facebook.com/Signnagas/posts/731437163639848:0
ตอนที่ ๒ บ้านเรือนของชาวสยาม และฝีมือการก่อสร้าง
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/732067013576863:0
ตอนที่ ๓ เครื่องเรือนของชาวสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/733326163450948:0
ตอนที่ ๔ สำรับกับข้าวของชาวสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/734108796706018:0
ตอนที่ ๕ รถและยานพาหนะทั่วไปของชาวสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/735225446594353:0

หมายเหตุ

  • - มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ได้ออกเดินทางจากท่าเรือเมือง เบรสต์ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๓๐ มาทอดสมอที่กรุงสยาม เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๒๓๐ เดินทางกลับเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๒๓๑ ขึ้นบกที่ท่าเรือเมืองเบรสต์ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๑
  • ความมุ่งหมายในการเขียน เพ่งเล็งในด้านอาณาเขต ความอุดมสมบูรณ์ คุณภาพของดินในการกสิกรรม ภูมิอากาศเป็นประการแรก ต่อมาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีโดยทั่ว ๆ ไป และเฉพาะเรื่องเฉพาะราย เรื่องเกี่ยวกับรัฐบาล และศาสนาจะกล่าวในตอนท้าย และได้รวบรวมบันทึกความทรงจำ เกี่ยวกับประเทศนี้ ที่เขาได้นำติดตัวมาด้วยไปผนวกไว้ตอนท้าย และเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักชาวสยามโดยแจ่มชัด จึงได้เอาความรู้เกี่ยวกับอินเดีย และจีนหลายประการมาประกอบด้วย นอกจากนั้นยังได้แถลงว่าจะต้องสืบเสาะให้รู้เรื่องราว พิจารณาสอบถาม ศึกษาให้ถึงแก่นเท่าที่จะทำได้ ก่อนเดินทางไปถึงประเทศสยาม ได้อ่านจดหมายเหตุทั้งเก่าและใหม่ บรรดาที่มีผู้เขียนขึ้นไว้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นตะวันออก ถ้าไม่มีสิ่งดังกล่าว เขาอาจใช้เวลาสักสามปี ก็คงไม่ได้ข้อสังเกต และรู้จักประเทศสยามดี
  • ทำอย่างไรถึงจะได้รับข้อความที่ทางเพจโพสทุกครั้ง ... กดคำว่า “ถูกใจ” แล้ว ใต้ “ภาพหน้าปก” จะมีคำว่า “รับการแจ้งเตือน” ให้กดที่คำนี้ จนเห็นเครื่องหมาย ‘ถูก’ ปรากฎขึ้น เพียงเท่านี้ คุณก็จะไม่พลาดข้อความดีๆอีกต่อไป
fb: นิทรรศการพลังแผ่นดิน
อัศจรรย์งานศิลป์ แผ่นดินสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น