วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

1 ความหมายและความสำคัญของประวัติศาสตร์

1 ความหมายและความสำคัญของประวัติศาสตร์

1x42.gif
ความหมายของประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์เกิดจากความมีสามัญสำนึกของมนุษย์อันเป็นคุณลักษณะที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น  มนุษย์ผูกพันกับประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด  จนไม่อาจจะแยกจากกันได้นั้น คือจะพยายามเรียนรู้และเข้าใจตนเอง โดยมีประวัติศาสตร์เป็นเครื่องนำทางมุ่งศึกษาพฤติกรรมมนุษย์แล้วให้ความ สำคัญแก่ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์หรือพฤติกรรมนั้นๆ มาก
คนทั่วไปมักจะมีความเข้าใจว่าประวัติศาสตร์คือ  “อดีต” หรือ “ส่วนหนึ่งของอดีต” แต่ในความเป็นจริงนั้น “อดีต” ก็คือ  “เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่าน” และ “ส่วนหนึ่งหรือเสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งของอดีต”
จะเป็นประวัติศาสตร์ได้ ก็ต่อเมื่อนักประวัติศาสตร์ สนใจและเห็นความสำคัญ มีประโยชน์ ต่อมนุษย์ หรืออาจกล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ คือ การสืบสวนสอบสวนค้นคว้า เรื่องราวของมนุษย์ในอดีต และเรื่องราวนั้นมีผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวม
เนื่องจากวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่มีขอบข่ายเนื้อหากว้าง ดังนั้นจึงมีนักประวัติศาสตร์ได้ให้ความหมายไว้หลายๆ ทัศนะ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงทัศนะของนักประวัติศาสตร์บางท่านไว้ดังนี้
1. เซอร์ ชาร์ลส์ โอมัน มีความเห็นในทำนองเดียวกับ อาร์เอฟ อารากอน  ว่า ประวัติศาสตร์ คือ “การตรวจสอบหลักฐานทั้งประเภทเอกสารและวัตถุ เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องกันแล้วหาข้อสรุปเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะสามารถได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตได้ แต่เราอาจจะสามารถอธิบายข้อเท็จจริงบางอย่างที่ได้จากการตรวจสอบ และวิเคราะห์หลักฐานเหล่านั้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่พอจะยอมรับกันได้”
2. จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า “วิชาประวัติศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยความชัดเจนในการต่อสู้ ทางสังคมมนุษย์ ซึ่งวิชานี้เสมือนตัวอย่างของการต่อสู้ทางสังคมแห่งชีวิตของชนรุ่นหลังการศึกษาประวัติศาสตร์จึงเป็นหัวใจแห่งการศึกษาความเป็นมาของสังคม เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การปฏิบัติอันถูกต้อง”
3. ดร. วิจิตร สินสิริ  ได้แสดงทัศนะไว้ว่า “ประวัติศาสตร์คือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต เกี่ยวด้วยเรื่องเหตุการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ปรัชญาที่มนุษย์ได้คิดได้สร้างไว้ถือเป็นความเจริญรุ่งเรือง และเป็นรากฐานของความเจริญสมัยต่อๆมา
ดังนั้นเราจึงมีประวัติศาสตร์หลายแขนง เช่น ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์อวกาศ ประวัติศาสตร์การเมืองฯลฯ
จากความหมายดังกล่าวข้างต้นของนักประวัติศาสตร์พอจะสรุปได้ว่า ประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในอดีตซึ่งต้องอาศัยการค้นคว้าหาหลักฐาน การวิเคราะห์ การตีความ การสังเคราะห์ โดยอาศัยข้อมูล ร่องรอยหลักฐานต่างๆมาพิจารณา เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์มีความหมายหลายนัย เช่น เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในอดีต เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ และมีวิธีการบันทึกอย่างเป็นระบบ  รวมทั้งประวัติศาสตร์สามารถเกิดขึ้นทุกขณะ ฯลฯ


ความสำคัญของประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ ช่วยให้มนุษย์รู้จักตัวเอง ทำให้รู้บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับขอบเขตของตน ขณะเดียวกันก็รู้เกี่ยงกับขอบเขตของคนอื่น กล่าวคือช่วยให้มนุษย์รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น รวมทั้งเข้าใจสังคมของมนุษย์โดยส่วนรวม
ประวัติศาสตร์ ช่วยให้เกิดความเข้าใจในมรดก วัฒนธรรมของมนุษยชาติ ความรู้ ความคิดอ่านกว้างขวาง ทันเหตุการณ์ ทันสมัย ทันคน และสามารถเข้าใจคุณค่าสิ่งต่างๆในสมัยของตนได้
ประวัติศาสตร์ ช่วยเสริมสร้างให้เกิดความระมัดระวัง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ฝึกฝนความอดทน ความสุขุมรอบคอบ ความสามารถในการวินิจฉัย และมีความละเอียดเพียงพอที่จะเข้าใจปัญหาสลับซับซ้อน
ประวัติศาสตร์ เป็นเหตุการณ์ในอดีตที่มนุษย์สามารถนำมาเป็นบทเรียน ให้แก่ปัจจุบัน โดยบทเรียนประวัติศาสตร์ อาจใช้เป็นประสบการณ์พื้นฐานการตัดสินใจ เหตุการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หรืออนาคต และประยุกต์ใช้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาและวิกฤตการณ์ต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม คุณธรรม ทั้งนี้เพื่อสันติสุขและพัฒนาการของสังคมมนุษย์เอง
ประวัติศาสตร์ สอนให้คนรู้จักคิดเป็น ไม่หลงเชื่อสิ่งใดง่าย ๆ โดยมิได้ไตร่ตรองพิจารณาให้ ถี่ถ้วนเสียก่อน ประวัติศาสตร์ของชาติย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ ในตระกูล และในความ เป็นชาติประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความรักชาติและช่วยกันรักษาชาติบ้านเมืองให้คงอยู่ ทั้งก้าวไปสู่ความเจริญ
ประวัติศาสตร์ จะเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ สังคมมนุษย์ หลักฐาน มิติของเวลา และวิธีการทางประวัติศาสตร์
โดยขั้นแรกต้องมีเหตุการณ์หรือพฤติกรรมในสังคมมนุษย์เกิดขึ้น แต่เนื่องจากสังคมมนุษย์เกิดขึ้นมากว่า 500,000 ปีมาแล้ว
ความจริงในอดีตจึงต้องอาศัยร่องรอยหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจเกิดจากธรรมชาติหรืออาจเกิดจากสิ่งที่มนุษย์ตั้งใจหรือ อาจไม่ตั้งใจจะสร้างหลักฐานขึ้น และเมื่อเกิดหลักฐานขึ้นแล้วต้องอาศัยนักประวัติศาสตร์ หรือผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ทำหน้าที่รวบรวม ตรวจสอบ พิจารณา ไตร่ตรอง วิเคราะห์ ตีความ วินิจฉัย และเรียบเรียงข้อเท็จจริงที่ค้นพบ เพื่ออธิบายเรื่องราวในสังคมนั้น ๆ ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด และผลของเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตามไม่มีผู้ใดสามารถจำลองอดีตได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เรียบเรียงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์นี้ จึงเป็นเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมมนุษย์ในอดีตเท่านั้น โดยผู้ศึกษาเห็นว่าเหตุการณ์นั้นมีความสำคัญต่อสังคม และควรเรียนรู้ ถือเป็นบทเรียนของอดีตที่มีผลถึงปัจจุบันและอนาคต การสืบค้นอดีต เพื่อเข้าใจสังคมปัจจุบันและเห็นแนวทางปฏิบัติในอนาคตคือ คุณค่าสำคัญของ ประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ยังช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ ความรัก และความภูมิใจในชาติของตน เข้าใจลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ กัน
และที่สำคัญผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จะได้รับการฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ การแยกแยะข้อเท็จจริงจากข้อมูล หลักฐานที่หลากหลาย ได้ฝึกฝนการอ่าน การเขียน การเล่าเรื่อง และการนำเสนออย่างมีเหตุผล อันเป็นกระบวนการสร้างภูมิปัญญาอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น