วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

2. สังคมสมัยอยุธยา

2. สังคมสมัยอยุธยา


สภาพสังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา
สังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะต่อเนื่องมาจากสังคมสมัยสุโขทัย แต่ก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากสังคมสมัยสุโขทัยหลายด้าน ทั้งนี้ก็เพราะว่าสถาบันสูงสุดของการปกครองได้เปลี่ยนฐานะไป นั่นคือ พระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนฐานะจากมนุษยราช
ในสมัยสุโขทัยเป็นเทวธิราชขึ้นในสมัยอยุธยา เปลี่ยนจากฐานะความเป็น "พ่อขุน" มาเป็น "เจ้าชีวิต" ของประชาชนซึ่งเป็นผลให้ระบบและสถาบันทางการปกครองต่างๆ แตกต่างไปจากสังคมไทยสมัยสุโขทัยด้วย

ชนชั้นของสังคมสมัยอยุธยา
สังคมอยุธยา เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้น นับตั้งแต่การแบ่งแยกชนชั้นอย่างเด็ดขาด ระหว่างกษัตริย์กับราษฎรแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ก็มีอันดับสูงต่ำลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ
ในหมู่ราษฎร ก็มีการแบ่งชนชั้นกันเป็นชนชั้นผู้ดีกับชนชั้นไพร่ ในหมู่ข้าราชการก็มีศักดินาเป็นตัวกำหนดความสูงต่ำของข้าราชการในชนชั้นต่างๆ  ซึ่งชนชั้นต่างๆ เหล่านี้ จะก่อให้เกิดมีสิทธิในสังคมอยุธยาขึ้นแตกต่างกันด้วย
ชนชั้นสูงสุดในสมัยอยุธยาคือพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนข้าราชการหรือขุนนางนั้น ก็แบ่งเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปตามลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบ พร้อมกับตำแหน่งหน้าที่แล้ว ราชการสมัยอยุธยายังมีศักดินาซึ่งมากน้อยตามตำแหน่งหน้าที่ ระบบศักดินานี้เป็น
ระบอบของสังคมอยุธยาโดยแท้ เพราะศักดินานั้น ทกคนต้องมีตั้งแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ลงไปจนถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย และประชาชนธรรมดา จำนวนลดหลั่นลงไป
        นอกจากจะแบ่งตามหน้าที่ตำแหน่งและความรับผิดชอบแล้ว ชนชั้นในสังคมอยุธยา ยังแบ่งออกกว้างๆ เป็นสองชนชั้นอีก คือ
ผู้มีศักดินาตั้งแต่ 400 ขึ้นไป เรียกว่าชนชั้นผู้ดี
ส่วนที่ต่ำลงมาเรียกว่า ไพร่ แต่ไพร่ก็อาจเป็นผู้ดีได้ เมื่อได้ทำความดีความชอบเพิ่มศักดินาของตนขึ้นไปถึง 400 แล้ว
และผู้ดีก็อาจตกลงมาเป็นไพร่ได้หากถูกลดศักดินาลงมาจนต่ำกว่า 400 การเพิ่มการลดศักดินา
ในสมัยอยุธยาก็อาจทำกันง่ายๆ หากได้ทำความดีความชอบหรือความผิด การแบ่งคนออกเป็นชนชั้นไพร่ และชนชั้นผู้ดีเช่นนี้ ทำให้สิทธิของคนในสังคมแต่ละชั้นต่างกัน
สิทธิพิเศษต่างๆ ตกไปเป็นของชนชั้นผู้ดีตามลำดับแห่งความมากน้อยของศักดินา เช่นผู้ดีเองและคนในครอบครัวได้รับยกเว้นไม่ถูกเกณฑ์ไปใช้งานราชการ ในฐานะที่เรียกกันว่า แลก เมื่อเกิดเรื่องศาล ผู้ดีก็ไม่ต้องไปศาล เว้นแต่ผิดอาญาแผ่นดิน เป็นขบถ
ธรรมดาผู้ดีจะส่งคนไปแทนตนในโรงศาล มีทนายไว้ใช้เป็นการส่วนตัว นอกจากนั้น ก็ยังมีสิทธิเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ในขณะที่เสด็จออก ขุนนาง เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ ผู้ดีที่มีศักดินาสูงๆ จะต้องคุมคนไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อรับราชการทัพได้ในทันที เมื่อพระมหากษัตริย์เรียก เช่น ผู้มีศักดินา 10,000 และมีหน้าที่บังคับบัญชากรมกอง ซึ่งมีไพร่หลวงสังกัดอยู่ ก็ต้องรับผิดชอบกะเกณฑ์ คนแข็งแรงและมีประสิทธิภาพด้วย




สังคมอยุธยา
        สังคมอยุธยานั้น กฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องมีนาย ตามกฎหมาย ลักษณะรับฟ้องมาตรา 10 กล่าวว่า "ราษฎรรับฟ้องร้องด้วยคดีประการใดๆ แลมิได้สังกัดมูลนายอย่าพึงรับไว้บังคับบัญชาเป็นอันขาดทีเดียว ให้ส่งตัวผู้นั้นแก่สัสดี เอาเป็นคนหลวง"
จะเห็นว่าไพร่ทุกคนของสังคมอยุธยาต้องมีสังกัดมูลนายของตน ผู้ไม่มีนายสังกัดกฎหมายไม่รับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สิน
ไพร่จะต้องรับใช้ชาติในยามสงคราม จึงต้องมีสังกัดเพื่อจะเรียกใช้สะดวก เพราะในสมัยอยุธยานั้น ไม่มีทหารเกณฑ์หรือทหารประจำการในกองทัพเหมือนปัจจุบัน จะมีก็แต่กองทหารรักษาพระองค์เท่านั้น
นอกจากนั้น เป็นเพราะสมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ต้องใช้ชายฉกรรจ์จำนวนมากในการปกป้องข้าศึก ศัตรู ความจำเป็นของสังคมจึงบังคับให้ราษฎรต้องมีนาย
เพราะนายจะเป็นผู้เกณฑ์กำลังไปให้เมืองหลวงป้องกันภัยจากข้าศึกศัตรู และนายซึ่งต่อมากลายเป็น "เจ้าขุนมูลนาย" ต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกหมู่ของตน ถ้านายสมรู้ร่วมคิดกับ
ลูกหมู่ทำความผิด ก็ถูกปรับไหมตามยศสูงต่ำ และหากลูกหมู่ของตนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรปล้นทรัพย์ มูลนายก็ต้องส่งตัวลูกหมู่ให้แก่ตระลากร
สังคมอยุธยาจึงเป็นสังคมที่ต้องมีความรับผิดชอบมากอยู่ มีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เพราะลักษณะและองค์ประกอบของสังคมซับซ้อนกว่าสังคมสุโขทัย

ระบบราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา
ลักษณะสังคมไทยที่น่าสนใจอยู่อีกประการหนึ่งคือ ระบบราชการ ซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดราษฎรให้มีภาระต่อแผ่นดิน
ชีวิตคนไทยได้ผูกพันอยู่กับราชการมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ข้าราชการในสมัยอยุธยา เรียกว่า ขุนนาง มียศหรือบรรดาศักดิ์ ชั้นพระยาหรือออกญาเป็นชั้นสูงสุด และลดลงไปตามลำดับคือ เจ้าหมื่น พระ จมื่น หลวง ขุน จ่า หมื่น และพัน
ส่วนเจ้าพระยา และสมเด็จพระยานั้น เกิดในตอนปลายๆ สมัยอยุธยา ส่วนยศ เจ้าหมื่น จมื่น และจ่านั้น เป็นยศที่ใช้กันอยู่ในกรมหาดเล็กเท่านั้น
ส่วนตำแหน่งข้าราชการสมัยอยุธยาก็มี อัครมหาเสนาบดี เสนาบดี จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุหบัญชี เป็นต้น ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี
และเสนาบดีนั้นในระยะแรกๆ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ต่อมาในระยะหลังๆ ก็เป็นเจ้าพระยาไปหมด ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ตั้งแต่ จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรมลงมาจนถึงสมุบัญชีนั้น มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบ้าง พระบ้าง จนถึงหลวง และขุนตามความสำคัญของตำแหน่งนั้นๆ
ข้าราชการในสมัยอยุธยา ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนหรือเงินปี ได้รับพระราชทานเพียงที่อยู่อาศัยและเครื่องอุปโภคบริโภคบางอย่าง เช่น หีบเงินใช้ใส่พลู ศาตราวุธ เรือยาว สัตว์ พาหนะ เลกสมกำลังและเลกทาสไว้ใช้สอย ที่ดินสำหรับทำสวนทำไร่ แต่เมื่อออกจากราชการ
แล้วก็ต้องคืนเป็นของหลวงหมดสิ้น







ไพร่สมัยอยุธยา


ระบบราชการของอยุธยานั้น ได้นำคนลงเป็นไพร่ สังคมอยุธยาจึงมีไพร่มีนาย ตามจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวไว้ว่า "ประชาชนชาวสยามรวมกันเป็นกองทหารรักษาดินแดน" ซึ่งทุกคนต้องขึ้นทะเบียนหางว่าวกรมสุรัสวดีเข้าไว้ทั้งหมด
ทุกคนเป็นพลรบต้องเกณฑ์เข้าเดือนรับราชการในพระองค์ปีละ 6 เดือน พลเมืองทั้งสิ้นต้องขึ้นทะเบียนเป็นหลักฐานไว้โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายขวาฝ่ายซ้าย เพื่อทุกคนรู้ว่าตนต้องขึ้นสังกัดหน้าที่ฝ่ายใด นอกจากนั้น ยังแบ่งส่วนราชการออกเป็นกรมอีก แต่ละกรมมีหัวหน้าคนหนึ่ง
เรียกว่า นาย จนกระทั่งนายนี้เป็นคำแสดงความเคารพยกย่องที่ใช้กันทั่วไป
แม้ระเบียบการปกครองสมัยอยุธยาจะแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ออกเป็นฝ่ายทหารและพลเรือน แต่ก็ปรากฏว่าใช้ได้แค่ยามปรกติเท่านั้น
พอเกิดสงครามขึ้น เจ้านายทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนก็ต้องเข้าประจำกองตามทำเนียบตน ทั้งนี้เพราะกำลังพลมีน้อย ไม่อาจแยกหน้าป้องกันประเทศไว้กับทหารฝ่ายเดียวได้ จำเป็นต้องใช้หลักการรวม จึงทำให้ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร
สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า ไพร่ ไพร่เป็นคำที่กินความกว้างขวาง เพราะผูกพันอยู่กับราชการมากกว่าทหารปัจจุบัน
ในสมัยอยุธยา ไพร่คือ ประชาชนที่สังกัดมูลนายต่างๆ มีหน้าที่และความรับผิดชอบแยกออกได้ดังนี้
1. ไพร่หลวง หมายถึง ไพร่ที่สังกัดวังหลวงหรือพระเจ้าแผ่นดิน ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์เข้ารับราชการปีละ 6 เดือน คือเข้าเดือนหนึ่ง
ออกเดือนหนึ่งสลับกันไป ถ้าไม่อยากถูกเกณฑ์เข้ารับราชการก็จะต้องเสียเงินแทน ซึ่งอาจจะเป็นเดือนละ 4-6 บาท ไพร่หลวงจะต้องสังกัด
อยู่ในกรมพระสัสดีซ้าย ขวานอก ใน ไพร่หลวงที่เป็นชายเมื่อเกิดศึกสงครามก็จะต้องออกรบได้
2. ไพร่สม หมายถึง ไพร่ที่สังกัดบรรดาเจ้านายหรือขุนนางใหญ่น้อยทั้งหลายในยามปรกติก็ถูกเกณฑ์แรงงานหรือรับราชการ ถ้าเกิดศึกสงครามผู้เป็นชายก็จะต้องออกรบ มีบางครั้งพวกไพร่หลวงหนีไปสมัครเป็นไพร่สมอยู่กับเจ้านาย กฎหมายอยุธยามีบท ลงโทษถึงจำคุกและถูกเฆี่ยนถ้าหากจับได้นอกจากนั้น กฎหมายอยุธยายังได้กำหนดอีกว่า ถ้าพ่อกับแม่สังกัดแตกต่างกันเช่น คนหนึ่งเป็นไพร่หลวง อีกคนหนึ่งเป็นไพร่สม ลูกที่เกิดอาจจะต้องแยกสังกัดตามที่กฎหมายกำหนด
3. ไพร่ราบ หมายถึง ไพร่ที่สังกัดมูลนาย มีอายุระหว่าง 13-17 ปี มีศักดินาระหว่าง 15
4. ไพร่ส่วย คือ พวกที่ยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์เข้ามารับราชการแต่จะต้องส่งสิ่งของมาให้หลวงแทน เช่น อาจจะเป็นดีบุก ฝาง หญ้าช้าง ถ้าไม่นำสิ่งของเหล่านี้มาจะต้องจ่ายเงินแทน
5. เลกหรือเลข เป็นคำรวมที่ใช้เรียกไพร่หัวเมืองทั้งหลายตลอดจนข้าทาส พวกเลกหัวเมือง ยังขึ้นกับกระทรวงใหญ่ 2 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย และกลาโหม มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ทาสสมัยอยุธยา
เป็นที่ยอมรับกันว่า สังคมอยุธยามีทาสไว้ใช้ ทาสเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่งของสังคมสมัยอยุธยาและกฎหมายอยุธยาก็ได้ยอมรับการมีทาส มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทาสไว้มากมายและได้แบ่งประเภทของทาสไว้ 7 พวกด้วยกันคือ
1. ทาสสินไถ่
2. ทาสเกิดในเรือนเบี้ย
3. ทาสได้มาแต่บิดามารดา
4. ทาสท่านให้
5. ทาสอันได้ช่วยเหลือในยามโทษทัณฑ์
6. ทาสอันได้เลี้ยงมาเมื่อเกิดทุพภิกขภัย
7. ทาสอันได้ด้วยเชลย
        จะเห็นว่า ทาสในสมัยอยุธยานั้น เป็นทาสที่ถูกกฎหมายคุ้มครอง เป็นทาสที่มีสภาพเป็นมนุษย์และเป็นพลเมืองของชาติอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นคนไทยในสมัยอยุธยาจึงสมัครใจจะเป็นทาสมากกว่าจะเป็นขอทาน เพราะอย่างน้อยก็มีข้าวกินมีที่อยู่อาศัยโดยไม่เดือดร้อน

ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีบางอย่างสมัยอยุธยา

การก่อรูปสังคมนั้น โดยทั่วไปย่อมเป็นหมู่บ้านตามที่อุดมสมบูรณ์พอจะเพาะปลูกเพื่อยังชีพได้ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำ
ลักษณะการก่อรูปของสังคมไทยโบราณก็เป็นไปลักษณะนี้
1. บ้านเรือนสมัยอยุธยา สร้างเป็นหลังขนาดย่อมๆ  
2. ผู้หญิงต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่าผู้ชาย  
3. ชอบเล่นการพนันกันอย่างกว้างขวาง
4. ชอบสูบยาเส้น และสูบกันอย่างกว้างขวาง  
5. นิยมให้ลูกชายได้ศึกษาเล่าเรียนโดยใช้วัดเป็นสถานศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น