วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ตอนที่ ๕ รถและยานพาหนะทั่วไปของชาวสยาม



มองสยามประเทศ ปี พ.ศ ๒๒๓๐ ผ่านจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์
ตอนที่ ๕ รถและยานพาหนะทั่วไปของชาวสยาม
  • ๑. สัตว์เลี้ยงใช้งาน นอกจากวัวควายแล้วยังมีช้างซึ่งใช้เป็นสัตว์พาหนะ การล่าช้างเปิดเสรีแก่ทุกคน งานธรรมดาใช้ช้างพัง ช้างพลายใช้ออกศึก เมืองสยามไม่เหมาะกับการเลี้ยงม้า ไม่มีลาและล่อ แต่ชาวมัวร์บางคนที่มาอยู่ในเมืองสยามมีอูฐไว้ใช้โดยส่งเข้ามาจากที่อื่น
  • ๒. ม้าพระที่นั่งของพระเจ้ากรุงสยาม โปรดให้เลี้ยงม้าไว้ ๒,๐๐๐ ตัว มีม้าจากเปอร์เซียราวโหลตัว แต่เสื่อมพันธุ์หมดแล้ว เป็นอภินันทนาการจากพระเจ้ากรุงเปอร์เซีย โดยอัครราชทูตเปอร์เซียมาน้อมเกล้าฯ ถวาย ธรรมดาจะส่งทรงเจ้าพนักงานไปหาซื้อม้าที่เมืองปัตตาเวีย ซึ่งเป็นม้าพันธุ์เล็กเปรียวพอใช้ แต่มีพยศจัด
  • ๓. ทหารม้าและทหารราบที่เมืองปัตตาเวีย กองพันทหารที่เมืองปัตตาเวียเป็นหน่วยทหารราบ มีคนชาติฝรั่งเศสรวมอยู่หลายคน หน่วยทหารม้ามีแต่ชาวเมืองที่เป็นชนชั้นกลาง
  • ๔. พระเจ้ากรุงสยามไม่ค่อยได้ทรงม้า เมื่อเราไปถึง (เมืองปัตตาเวีย) มีคนสยามสองนายไปหาซื้อม้า ๒๐๐ ตัว สำหรับพระมหากษัตริย์ และได้ส่งไปที่กรุงสยามแล้ว ๑๕๐ ตัว ทั้งนี้ใช่ว่าพระองค์จะโปรดม้า อาจรู้สึกว่าเตี้ยเกินไป ส่วนช้างเห็นว่าเหมาะแก่การรบมาก
  • ๕. ช้างพระที่นั่งประจำซองในวังหลวง มีอยู่เชือกหนึ่งประจำอยู่เสมอพร้อมใช้ขับขี่ได้ทุกขณะ และไม่มีม้าพระที่นั่งยืนโรงอยู่เลย
  • ๖. ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้ากรุงสยามเสด็จ ฯ เสมอระดับพื้นดินเลย ในวังหลวงตรงที่ตั้งโรงช้างมีเกยเล็กๆ ตั้งอยู่เพื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงช้างได้สะดวก หากจะเสด็จโดยพระราชยานคานหาม ก็จะเสด็จมาประทับพระราชยาน ซึ่งเทียบรอรับเสด็จอยู่ในระดับสูงทางช่องพระบัญชร หรือไม่ก็ทางพระเฉลียง
  • ๗. พระราชยานคานหามเสลี่ยงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และพื้นนั่งแบนราบยกสูงขึ้นไปมากบ้างน้อยบ้างเอาตัวขึ้น และตรึงไว้ให้แนบกับคานหาม ใช้คนสี่หรือแปดคน บางทีที่นั่งก็มีพนัก และเท้าแขนเหมือนเก้าอี้ บางทีก็มีเพียงลูกกรงสูงประมาณครึ่งฟุตล้อม เว้นช่องไว้ด้านหน้า แต่คนสยามมักนั่งขัดสมาธิ บางทียานนี้ก็โถง บางทีก็มีประทุนซึ่งมีอยู่หลายแบบ
  • ๘. ยานมีหลังคาไม่มีเกียรติเสมอเครื่องสูง ได้เห็นพระเจ้ากรุงสยามประทับช้างพระที่นั่งไม่มีหลังคา เป็นพระที่นั่งโถง ทางด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังมีเครื่องสูงรูปเหมือนใบไม้ใหญ่ ๆ หรือช่อนนภทาทองรวมสามชิ้น ปลายงอนออกมาทางด้านนอกเล็กน้อย ตั้งอยู่เสมอพระอังสะ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหยุด เจ้าพนักงานจะเชิญบังสูรย์คันยาวรูปร่างเหมือนหอกใบพายมากั้นแสงแดดให้ ตัวใบหอก กว้าง ๓ - ๔ ฟุต เรียกว่าพัดโบก (ที่จริงคือบังสูรย์)
  • ๙. ชาวสยามขี่ช้างกันอย่างไร จะขี่คร่อมคอเหมือนคอม้า แต่ไม่มีเครื่องอานบังเหียนแต่อย่างใด ถือแต่ขอทำด้วยเหล็กหรือเงิน ใช้สำหรับสับที่หัวช้างทางซีกขวาบ้าง หรือตรงกลางตะบองหน้าผาก พร้อมกับร้องบอกช้างว่าควรจะไปทางไหน หรือว่าให้หยุด เมื่อไม่ขี่ด้วยตนเองก็ขึ้นนั่งลูบหลังช้าง แล้วมีคนขับนำช้างที่คอช้าง บางทีก็มีอีกคนหนึ่งนั่งท้ายช้างไปด้วย เรียกควาญท้ายช้างว่าหัวสิบ คือนายสิบ หรือผู้คุมคน ๑๐ คน คนที่นั่งคอช้างเรียกว่านายช้าง เป็นผู้บังคับบัญชาบรรดาคนที่ดูแลช้างทั้งหมด
  • ๑๐. ยานพาหนะเรือยาว คนในเมืองนี้เดินทางเรือมากกว่าทางบก พระเจ้ากรุงสยามมีเรือยาวพระที่นั่งอย่างงดงามไว้เป็นอันมาก ลำเรือทำจากซุงท่อนเดียว บางลำยาว ๑๖ - ๒๐ วา คนสองคนนั่งขัดสมาธิเดียวขนานกันไปบนกระทงเรือ พอต็มพื้นที่ด้านกว้างของเรือพอดี คนหนึ่งพายทางกราบขวา อีกคนพายทางกราบซ้าย คนถือท้ายหันหน้าไปทางหัวเรือ ฝีพายหันหลังให้หัวเรือ
  • ๑๑.รูปร่างที่ถูกต้องของเรือยาว เรือยาวลำหนึ่ง บางทีมีฝีพาย ๑๐๐ - ๑๒๐ คน นั่งขัดสมาธิเรียงคู่กันไปบนแผ่นกระดาน ขุนนางชั้นผู้น้อยมีเรือขนาดสั้นกว่า และมีฝีพายน้อยลงเพียง ๑๖ - ๒๐ คน พวกฝีพายจะร้องเพลง หรือออกเสียงให้จังหวะ เพื่อให้พายพร้อมกัน ดูสง่างามมาก เรือแล่นฉิวน่าดูนัก หัวเรือและท้ายเรือสูงมาก รูปร่างเหมือนคอและหางนาค หรือปลาขนาดมหึมาชนิดใดชนิดหนึ่ง ใบพายทั้งสองกราบดูคล้ายปีกหรือครีบ ตรงหัวเรือมีฝีพายอยู่คนเดียวที่แถวหน้า ขาซ้ายกับขาขวาทั้งสองข้างจำเป็นต้องเหยียดขาข้างหนึ่งออกไปนอกลำเรือ เอาเท้ายื่นไม้ขวางหัวเรือไว้ คนชักหัวเรือฝีพายต้นนี้เป็นผู้ให้จังหวะแก่ฝีพายทั้งลำ พายของเขาเบากว่าของคนอื่นๆเล็กน้อย เพราะนั่งอยู่ตรงหัวเรือที่เชิดสูงขึ้น ฝีพายจ้ำพายลงทุกครั้งที่ให้จังหวะ ถ้าต้องการให้ไปเร็วขึ้นก็จ้ำสองครั้งนานๆ ที นายท้ายยืนอยู่ท้ายเรือตลอดเวลา ท้ายเรือเชิดสูงไปมาก หางเสือนั้นเป็นพายขนาดยาวมิได้ขันติดอยู่กับเรือ เขาจะกดพายดิ่งลงไปในน้ำแนบกับกราบเรือ ทางขวาบ้างทางซ้ายบ้าง นางทาสีทำหน้าที่เป็นฝีพายประจำเรือท่านผู้หญิง
  • ๑๒. เรือชนิดต่างๆ เรือที่ใช้กันตามธรรมดา มีผู้พายน้อยคน ที่กลางลำมีประทุนจัดแตะด้วยไม้ไผ่หรือเก้งไม้อย่างอื่น ไม่ทาสีหรือทาน้ำมันชักเงาแต่อย่างใด ภายในอยู่ได้ทั้งครอบครัว บางทีประทุนก็มีกันสาดยื่นออกไปข้างหน้า สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพวกทาส ชาวสยามเป็นอันมากอยู่แต่ในเรือ ในเรือยาวสำหรับพระราชพิธี หรือเรือพระที่นั่งต้น หรือเรือหลวง ตรงกลางลำมีที่นั่งที่เดียว กินพื้นที่เกือบเต็มความกว้างของลำเรือ ที่นั่งสำหรับคนเดียวกับสาตราวุธ ถ้าเป็นขุนนางธรรมดาก็มีร่มธรรมดาคันเดียว ถ้าเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปนอกจากที่นั่งบจะสูงขึ้นแล้วยังมีหลังคาเรียกว่ากูบ เป็นซุ้มที่นั่งทึบ เปิดด้านหน้าและด้านหลัง ทำด้วยไม้ไผ่จักและสานทาด้วยรักสีดำหรือสีแดง ทั้งภายนอกและภายใน
  • รักสีแดงสำหรับขุนนางฝ่ายขวา รักสีดำสำหรับขุนนางฝ่ายซ้าย ขอบกูบปิดทองด้านนอกเป็นแถบกว้าง ๓ - ๔ นิ้วฟุต อ้างกันว่าการทาแถบทอง โดยวาดเป็นลวดลายประดับนั้น เป็นเครื่องหมายแสดงยศศักดิ์ของขุนนาง รูปกูบบางอันก็ใช้หุ้มด้วยผ้า แต่ไม่ได้ใช้ในฤดูฝน ถ้าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านไป ขุนนางจะลงจากที่นั่งลงสู่พื้น และหมอบกราบบังคม บรรดาคนในเรือก็หมอบทั้งสิ้น จะเดินทางต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลับสายตาไปแล้วเท่านั้น
  • ๑๓. เรือหลวง หลังคาเครื่องยอดของขบวนเรือหลวงนั้นปิดทองทั่ว พายก็ปิดทอง หลังคามีเสารับและประดับด้วยลวดลายจำหลัก เป็นลายกระจังอย่างวิจิตร หลังคาบางหลังมีสันสาดบังแสงแดด เรือหลวงต้นลำที่พระเจ้าอยู่หัวทรงนั้น มีกรรมการหรือเจ้าพนักงานสี่นายเป็นผู้บังคับฝีพายทั้งลำ อยู่ข้างหน้าสองคน ข้างหลังสองคน นั่งขัดสมาธิ
  • ๑๔. ความเร็วของเรือยาว เรือแล่นได้เร็ว แม้จะทวนน้ำ และเมื่อหมู่เรือยาวแล่นไปพร้อมๆ กันก็น่าดูมาก
  • ๑๕. เมื่อคณะอัครราชทูตพิเศษเข้าสู่พระนครทางชลมารค เขาสารภาพว่าเมื่อคณะอัครราชทูตฝรั่งเศส เคลื่อนสู่ลำแม่น้ำ ความสง่างามของริ้วขบวนแห่แหน ลำน้ำกว้างพอดู แม้จะคดเคี้ยวแต่ก็มีร่องกลางน้ำใหญ่ พอที่เรือจะผ่านได้สะดวก สองฝั่งแม่น้ำมีสวนผลไม้ เขียวชะอุ่มต่อกันไม่ขาดระยะ มีผู้คนเกือบ ๓,๐๐๐ คน ในเรือยาว ๗๐ - ๘๐ ลำ มาร่วมขบวนแห่ ลอยลำขนาบไปเป็นสองแถว เสียงกึกก้องแต่ไพเราะด้วยเสียงเห่ เสียงโห่ เสียงกระจับปี่สีซอ
  • ๑๖. ความสง่างามแต่โบราณของราชสำนักสยาม มีผู้ยืนยันว่าที่กรุงสยามนั้น (แต่ครั้งบ้านเมืองดี) ราชสำนักสง่างามรุ่งเรืองยิ่ง พระราชวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทล้วนแต่งกายด้วยเสื้อราคาแพง ประดับอัญมณีแพรวพราว และข้าทาสบริวารติดตาม ๑๐๐ - ๒๐๐ คน ใช้ช้างเป็นพาหนะก็มาก แต่บัดนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้วนับแต่พระราชบิดาของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้ทรงพิฆาตเจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เสียแทบไม่เหลือ ปัจจุบันมีเจ้านายอยู่ ๓ - ๔ องค์เท่านั้น ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ยวดยานคานหาม ส่วนชาวยุโรปที่อยู่ในกรุงสยามยังได้รับอนุญาตให้ใช้ได้อยู่
  • ๑๗. ร่มกันแดด ใช้ได้แต่ไม่ทั่วไปในบรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน อนุญาตให้ชาวยุโรปใช้ได้ทุกคน เป็นร่มชั้นเดียว เป็นเครื่องแสดงเกียรติอย่างต่ำ ซึ่งพวกขุนนางส่วนมากใช้กันอยู่ ร่มที่มีหลายชั้นในก้านเดียวกัน ใช้ได้เฉพาะพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ร่มที่เรียกว่า กลดมีตัวร่มชั้นเดียวแต่ติดระบายมีลวดลายรอบ ๒ - ๓ ชั้น เลื่อนกันลงมาเป็นร่มที่พระเจ้ากรุงสยามถวายแด่พระสังฆราช หรือพระสังฆนายก ร่มที่พระราชทานแด่คณะอัครราชทูตพิเศษ ก็เป็นอย่างเดียวกันนี้มีระบายสามชั้น
  • ๑๘. ร่มของพระสงฆ์และที่มาของคำว่าตาละปวง พระสงฆ์ใช้ร่มเป็นแผงซึ่งถือติดมือไปไหนมาไหน ทำด้วยใบลานเจียนเป็นรูปกลมและจีบ ปลายจีบร้อยด้วยลวดมามัดไว้ที่ใกล้ก้าน ก้านดัดเป็นด้ามถือเรียกว่า "ตาลปัตร" นามพระสงฆ์เรียกกันว่า "เจ้ากู"
  • ๑๙. ช้างกับเรือ อนุญาตให้ราษฎรใช้ได้ทั่วไป
  • ๒๐. พระเจ้ากรุงสยามแสดงพระองค์เมื่อใดและอย่างใด ตามโบราณราชประเพณีแห่งราชสำนักกำหนดให้ปรากฏ พระองค์ให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร เฝ้าถวายบังคมเพียงปีละ ๕ - ๖ วันเท่านั้น และประกอบเป็นพระราชพิธีใหญ่ สมัยก่อนพระเจ้ากรุงสยามเสด็จออกทรงทำพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทุกปี ต่อมาได้ทรงมอบให้ออกญาข้าว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกในวันพระราชพิธีทางชลมารค เพื่อให้พระแม่คงคาไหลคืนลงสู่ท้องน้ำในยามฤดูกาลเพาะปลูก พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเป็นพระองค์แรกที่ทรงเลิกพิธีนี้เสีย
  • แฟร์นังค์ เมนเดช ปินโต เล่าว่าในสมัยของเขา พระเจ้ากรุงสยามเคยเสด็จออกวันหนึ่งในปีหนึ่ง โดยประทับบนหลังพระเศวตคชาธาร เสด็จไปบนถนนเก้าสายในพระนคร และพระราชทานข้าวของเป็นอันมากแก่พสกนิกร บัดนี้เลิกไปแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกแสดงพระองค์ต่อพสกนิกร ในพระนครเพียงปีละสองครั้งคือ ตอนต้นเดือนหก และเดือนสิบสองเพื่อไปถวายนิตยภัต ผ้าไตรจีวร และผลหมากรากไม้แด่พระสงฆ์ในวัดสำคัญๆ ในวันสำคัญทางศาสนา พระองค์ประทับช้างพระที่นั่งไปสู่อารามต่างๆ แล้วเสด็จทางชลมารคไปสู่อารามอีกแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากพระนครไปทางใต้ประมาณ ๒ ลี้
  • ๒๑. พระเจ้ากรุงสยามไว้พระเกียรติที่เมืองละโว้น้อยกว่าที่อยุธยา ที่เมืองละโว้ พระองค์เสด็จประพาสไปในที่ต่างๆ ได้บ่อย เช่น ล่าเสือ หรือโพนช้าง เมื่อเสด็จไปพระตำหนักน้อยที่ทะเลชุบศร พร้อมฝ่ายในโดยพระบาท
  • ๒๒. ขบวนแห่เสด็จฯ ของพระเจ้ากรุงสยาม ขบวนแห่เสด็จฯ โดยเสด็จทั้ง ๒๐๐ - ๓๐๐ คน ทั้งเดินเท้าและขี่ม้า ขบวนหน้ามีพลเดินเท้าถือพลอง หรือหลอดไม้ซางสำหรับเป่าเมล็ดถั่วนำไปเป็นเหล่าๆ เพื่อไล่คนให้พ้นทางเสด็จฯ โดยเฉพาะเมื่อขบวนพระสนมจะโดยเสด็จผ่านไป และก่อนจะถึงเวลาเสด็จฯ ก็มีการประกาศเตือนชาวยุโรปที่เพิ่งเข้ามาสู่เมืองสยามมิให้ตัดหน้าฉาน ผู้ทำหน้าที่นำเสด็จฯ เรียกว่านครบาล และแขวง นครบาลรักษาสถลมารคทางเบื้องขวา แขวงรักษาทางเบื้องซ้าย แขวงเป็นตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจ มีเจ้าพนักงานตำรวจ ๑ นายในเหล่าอาสาเขมร และลาวขี่ม้าแซงสองข้างทาง ห่างจากราชพาหนะ ๕๐ - ๖๐ ก้าว เหล่าข้าราชบริพารนำเสด็จฯ ถึงจุดหมายปลายทางก่อนหรือบางครั้งก็เดินตามเสด็จโดยพนมมือแค่อกไปตลอดทาง บางทีขี่ม้า บางทีขี่ช้างตามเสด็จฯ ไป เมื่อพระเจ้าอยู่หัวหยุดราชพาหนะ เหล่าเดินเท้าจะทรุดลงหมอบเข่าและศอกจรดดิน ส่วนเหล่าม้า และเหล่าช้าง จะหมอบกราบอยู่บนหลังสัตว์พาหนะที่ขี่อยู่ เจ้าพนักงานที่เรียกว่าชาวหมู่ เดินเท้าตามเสด็จฯ เป็นเหล่ามหาดเล็กเด็กชา บางคนก็เชิญพระแสงศาตราวุธ บางคนก็เชิญหีบพระศรี
  • ๒๓. การเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างแปลกๆ
ตอนที่ ๑ เครื่องนุ่งห่ม และรูปร่างหน้าตาของชาวสยามhttps://www.facebook.com/Signnagas/posts/731437163639848:0
ตอนที่ ๒ บ้านเรือนของชาวสยาม และฝีมือการก่อสร้าง
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/732067013576863:0
ตอนที่ ๓ เครื่องเรือนของชาวสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/733326163450948:0
ตอนที่ ๔ สำรับกับข้าวของชาวสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/734108796706018:0
ตอนที่ ๕ รถและยานพาหนะทั่วไปของชาวสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/735225446594353:0ok.com/Signnagas/posts/734108796706018:0
หมายเหตุ
  • - มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ได้ออกเดินทางจากท่าเรือเมือง เบรสต์ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๓๐ มาทอดสมอที่กรุงสยาม เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๒๓๐ เดินทางกลับเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๒๓๑ ขึ้นบกที่ท่าเรือเมืองเบรสต์ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๑
  • ความมุ่งหมายในการเขียน เพ่งเล็งในด้านอาณาเขต ความอุดมสมบูรณ์ คุณภาพของดินในการกสิกรรม ภูมิอากาศเป็นประการแรก ต่อมาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีโดยทั่ว ๆ ไป และเฉพาะเรื่องเฉพาะราย เรื่องเกี่ยวกับรัฐบาล และศาสนาจะกล่าวในตอนท้าย และได้รวบรวมบันทึกความทรงจำ เกี่ยวกับประเทศนี้ ที่เขาได้นำติดตัวมาด้วยไปผนวกไว้ตอนท้าย และเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักชาวสยามโดยแจ่มชัด จึงได้เอาความรู้เกี่ยวกับอินเดีย และจีนหลายประการมาประกอบด้วย นอกจากนั้นยังได้แถลงว่าจะต้องสืบเสาะให้รู้เรื่องราว พิจารณาสอบถาม ศึกษาให้ถึงแก่นเท่าที่จะทำได้ ก่อนเดินทางไปถึงประเทศสยาม ได้อ่านจดหมายเหตุทั้งเก่าและใหม่ บรรดาที่มีผู้เขียนขึ้นไว้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นตะวันออก ถ้าไม่มีสิ่งดังกล่าว เขาอาจใช้เวลาสักสามปี ก็คงไม่ได้ข้อสังเกต และรู้จักประเทศสยามดี
  • ทำอย่างไรถึงจะได้รับข้อความที่ทางเพจโพสทุกครั้ง ... กดคำว่า “ถูกใจ” แล้ว ใต้ “ภาพหน้าปก” จะมีคำว่า “รับการแจ้งเตือน” ให้กดที่คำนี้ จนเห็นเครื่องหมาย ‘ถูก’ ปรากฎขึ้น เพียงเท่านี้ คุณก็จะไม่พลาดข้อความดีๆอีกต่อไป
  • fb: นิทรรศการพลังแผ่นดิน
  • อัศจรรย์งานศิลป์ แผ่นดินสยาม
  • https://www.facebook.com/Signnagas

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น