วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ตอนที่ ๑ เครื่องนุ่งห่ม และรูปร่างหน้าตาของชาวสยาม

มองสยามประเทศ ปี พ.ศ ๒๒๓๐ ผ่านจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์
ตอนที่ ๑ เครื่องนุ่งห่ม และรูปร่างหน้าตาของชาวสยาม
  • ๑. ชาวสยามนุ่งห่มผ้าน้อยชิ้นเพราะร้อน และเพราะความเป็นอยู่ง่ายๆ ชาวสยามไม่ค่อยหุ้มห่อร่างกายมิดชิดนัก
  • ๒. ผ้านุ่งเครื่องนุ่งห่มของชาวสยาม ชาวสยามไม่ใส่รองเท้าไม่สวมหมวก พันเอวและขาอ่อน ถึงใต้หัวเข่าด้วยผ้ามีดอกดวงยาวประมาณ ๒ โอนครึ่ง (๑.๑๘ เมตร) บางครั้งก็ใช้ชิ้นผ้าไหมเกลี้ยงๆ หรือทอที่ริมเป็นลายทองลายเงิน
  • ๓.ขุนนางใช้เสื้อคลุมผ้ามัสลินเป็นเสื้อชั้นนอก พวกขุนนางนอกจากนุ่งผ้าแล้วยังสวมเสื้อครุยมัสลินคลุม (ถึงเข่า) เขาจะเปลื้องมันออกแล้วม้วนพันไว้กับบั้นเอว เมื่อเข้าไปหาขุนนางผู้ใหญ่ที่มียศศักดิ์สูงกว่าตน นอกนั้นบรรดาขุนนางที่เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามคงนุ่งห่มเสื้อผ้าเต็มยศตามธรรมเนียม ขุนนางสยามเมื่อมีงานพระราชพิธีต้องสวมหมวกลอมพอกสูงมียอดแหลม
  • ๔. ผ้าคลุมกันหนาว ในฤดูหนาวชาวสยามใช้ผ้าตามความกว้างหรือผ้าลินินมีดอกดวงคลุมไหล่โดยพันชายผ้าไว้กับลำแขน
  • ๕. พระเจ้ากรุงสยามฉลองพระองค์อย่างไร ทรงใช้ฉลองพระองค์ด้วยผ้าเยียรขับอย่างงาม แขนฉลองพระองค์แดงมากปรกมาถึงข้อพระหัตถ์ ทำนองเดียวกับเสื้อที่เราใช้ได้เสื้อคลุม ทรงฉลองพระองค์นั้นไว้ภายใต้ฉลองพระองค์ครุย มีการปักอย่างวิจิตรต่างแบบลวดลายกันกับในยุโรป ชาวสยามคนใดจะใช้เสื้อเปิดนี้ไม่ได้ นอกจากพระองค์จะพระราชทานให้ ซึ่งจะพระราชทานให้เฉพาะขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์สูงเท่านั้น
  • ๖. เสื้อยศทหาร พระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานเสื้อชั้นนอกสีแดงสด สำหรับออกงานสงครามหรือตามเสด็จ ฯ ล่าสัตว์ เสื้อชนิดนี้ยาวถึงหัวเข่า มีดุมขัดด้านหน้า ๘ - ๑๐ เม็ด แขนเสื้อกว้างไม่มีปักลวดลาย และสั้นมากจนปรกไปถึงข้อศอก
  • ๗. สีแดงสำหรับออกศึก และประพาสป่าเป็นธรรมเนียมทั่วไปในกรุงสยาม ที่พระเจ้าอยู่หัวและผู้ที่อยู่ในขบวนโดยเสด็จออกงานดังกล่าว จะต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดสีแดง ตัดเย็บด้วยผ้ามัสลินย้อมแดง
  • ๘. ลอมพอกยอดสูงและปลายแหลม เป็นศิราภรณ์สำหรับใช้ในงานพระราชพิธี พระเจ้าอยู่หัวและขุนนางแต่งเหมือนกัน ต่างแต่ว่าพระลอมพอกประดับขอบ หรือเสวียนเกล้าด้วยพระมหามงกุฎเพชรรัตน์ ส่วนลอมพอกขุนนางประดับเสียนทองคำ เงิน หรือกาไหล่ทองมากน้อยตามยศ บางคนไม่มีเสวียนเลย เมื่อใส่ลอมพอก การแสดงความเคารพไม่ได้ถอดออก
  • ๙. รองเท้าแตะ พวกแขกมัวร์เป็นผู้นำรองเท้าแตะอันเป็นรองเท้าปลายแหลมมาใช้ ไม่มีปีกหุ้มเท้า ไม่มีส้น เขาถอดวางไว้ที่ประตู เมื่อเจะเข้าไปในเรือน ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะประทับอยู่ ณ ที่ใดหรือบุคคลที่เขาจะต้องให้ความเคารพอยู่ ณ ที่ใด ชาวสยามจะไม่สวมรองเท้าเข้าไป ณ ที่นั้นเป็นอันขาด
  • ๑๐. ความสะอาดของพระราชวังไม่มีที่ใดจะสะอาดเท่าพระบรมมหาราชวัง
  • ๑๑. หมวกสำหรับสวมไปเที่ยว พวกขุนนางนิยมมีกัน พระเจ้าอยู่หัวตรัสให้สร้างพระมาลาเป็นสีต่างๆ รูปทรงคล้ายๆ กับพระลอมพอก แต่ราษฎรสามัญจะใช้ผ้าโพกศีรษะเฉพาะเมื่อลงเรืออยู่ในแม่น้ำเท่านั้น
  • ๑๒. เครื่องนุ่งห่มของสตรี พวกผู้หญิงนุ่งห่มตามความยาวของผืนผ้าวงรอบตัว เช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงปล่อยชายทางด้านกว้าง เลียนแบบกระโปรงอย่างแคบๆ ให้ชายตกลงมาครึ่งแข้ง ส่วนผู้ชายชักชายผ้าข้างหนึ่งซึ่งเขาปล่อยให้ยาวกว่าอีกข้างหนึ่ง ลอดหว่างขาแล้วไปเหน็บไว้ด้านหลัง โดยคาดเข็มขัดทับ คล้ายสับเพลาโบราณของเรา ส่วนชายอีกข้างหนึ่งห้อยอยู่หน้าขา (ชายพก) ใช้ชายพกห่อล่วมหมาก บางทีก็นุ่งผ้าสองผืนซ้อนทับกัน เพื่อให้ผืนบนดูเรียบร้อย
  • ๑๓. เกือบจะเปลือยหมด นอกจากผ้านุ่งแล้ว ผู้หญิงก็ปล่อยตัวล่อนจ้อน มิได้สวมเสื้อชั้นในมัสลิม เพียงแต่คนมั่งมี จะใช้สไบห่ม ปัดชายสไบเฉียงไปคลุมต้นแขน แต่ลักษณะที่สุภาพคือใช้ตอนกลางของผืนคาดขนอง แล้วสอดรักแร้ปกถันเข้าไว้ แล้วตลบชายสไบทั้งสองด้านสพักไพล่ไปทั้งชายอยู่ทางเบื้องหลัง (ห่มตะเบงมาน)
  • ๑๔. ความละอายในการเปลือย ชายหญิงสยามมีความตะขิดตะขวงใจเป็นอย่างยิ่งในโลก ที่จะเผยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งธรรมเนียมกำหนดให้ปิดบังไว้ไม่ให้ใครเห็น เราต้องจ่ายผ้าขาวม้าให้ทหารฝรั่งเศสนุ่ง เมื่อลงอาบน้ำตามท่า เพื่อระงับข้อครหาของชาวเมือง ที่เห็นทหารฝรั่งเศสเปลือยกายลงอาบน้ำในแม่น้ำ
  • ๑๕. ความละอายในการลงโทษ เด็กๆ จะไม่นุ่งผ้าจนอายุได้ ๔ - ๕ ขวบ และเมื่อเด็กนุ่งผ้าแล้วผู้ใหญ่จะไม่เลิกผ้าขึ้นเพื่อลงโทษเลย และคนในภาคบูรพาทิศถือกันว่าเป็นการน่าบัดสีอย่างยิ่ง ถ้าใครถูกโบยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอันเปลือยเปล่า
  • ๑๖. เหตุใดจึงใช้ไม้เรียว เพราะแส้หรือกิ่งไม้ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ เพียงพอที่จะแทรกเนื้อผ้าเข้าไปใด้
  • ๑๗. ความละอายเวลานอนและอาบน้ำ ชาวสยามไม่เปลือยกายเมื่อเข้านอน ทำนองเดียวกันกับที่เขาผลัดผ้าเมื่อลงอาบน้ำในแม่น้ำ ไม่มีที่ไหนในโลกที่จะว่ายน้ำกันเก่งเท่าที่นี่ทั้งหญิงและชาย
  • ๑๘. องค์พยานความละอายอย่างอื่นๆ ความละอาย (ต่อความสกปรก) ของชาวสยามก่อให้เกิดธรรมเนียมขัดสีฉวีวรรณกันอย่างถึงขนาด เขาเห็นว่าการเปลือยกายเป็นสิ่งที่น่าบัดสี เพลงขับที่มีเนื้องร้องเป็นคำลามกอนาจาร เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายสยามเหมือนกับกฎหมายในประเทศจีน
  • ๑๙. ผ้านุ่งชนิดใดที่อนุญาตให้ใช้ได้ ผ้านุ่งที่มีความงดงามบางชนิดเช่น ผ้าม่วงไหมยกดอกหรือผ้าม่วงไหมอย่างไม่ยกดอก และเช่นผ้าลายเนื้อดี อนุญาตให้นุ่งได้เฉพาะบุคคลที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ส่วนพวกผู้หญิงชั้นสามัญนิยมนุ่งผ้าถุงสีดำ และสไบนั้นมักเป็นผ้ามัสลินสีขาวอย่างธรรมดา
  • ๒๐. แหวน กำไล ข้อมือ ตุ้มหู ชาวสยามสวมแหวนที่นิ้วท้ายๆ ของทั้งสองมือ พวกผู้ชายไม่รู้จักใช้สร้อยคอ พวกผู้หญิงและเด็กทั้งชายหญิงรู้จักการใช้ตุ้มหู ซึ่งมีรูปร่างเหมือนลูกบัว ทำด้วยทองคำ เงิน หรือกาไหล่ทอง เด็กหนุ่มสาวลูกผู้ดีสวมกำไลข้อมือ แต่จะสวมถึงอายุ ๖ - ๗ ขวบเท่านั้น และยังสวมกำไลที่แขน และขาอีกด้วย เป็นกำไลทำด้วยทองคำหรือกาไหล่ทอง
  • ๒๑. การเปลือยกายของเขาไม่เป็นที่แปลกตา เพราะมีผิวพรรณไม่ขาวเหมือนชาวยุโรป
  • ๒๒. รูปร่างของชาวสยามมีรูปร่างย่อมได้สัดส่วนดี ปทุมถันของหญิงมิได้เต่งตั้งอยู่ได้เมื่อพ้นวัยสาวรุ่นไปแล้ว และยานย้อยลงมาถึงท้องน้อยในเวลาไม่นาน แต่รูปทรงร่างกายยังกะทัดรัดอยู่
  • ๒๓. หน้าตาชาวสยามค่อนข้างเป็นรูปขนมเปียกปูนมากกว่ารูปไข่ ใบหน้ากว้าง ผายขึ้นไปทางเหนือโหนกแก้ม ไปถึงหน้าผากอันแคบ รวมเข้าเป็นรูปมนเหมือนปลายคาง หางตาค่อนข้างสูง ตาเล็ก ไม่สู้แจ่มใสนัก ตาขาว ออกสีเหลืองๆ แก้มตอบ ปากกว้าง ริมฝีปากหนาชัด ฟันดำ ผิวหยาบ สีน้ำตาลปนแดง
  • ๒๔. สีน้ำเงินที่สักไว้ตามร่างกาย ผู้หญิงสยามไม่ใช้ชาดทาปาก แก้มหรือแต้มไฝ ขุนนางสักที่ขาเป็นสีน้ำเงินหม่นเป็นเครื่องกำหนดความยิ่งศักดิ์ จะมีสีน้ำเงินมาก หรือน้อยสุดแต่บรรดาศักดิ์สูงต่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงสักสีน้ำเงิน ตั้งแต่ฝ่าพระบาทไปถึงพระนภี แต่บางคนก็บอกว่ากาสักทำไปเพราะเชื่อโชคลางของขลัง
  • ๒๕. จมูกและหูของชาวสยาม ชาวสยามมีจมูกสั้นและปลายมน ใบหูใหญ่กว่าชาวยุโรป คนมีใบหูใหญ่มากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นที่ยกย่องกันมากเท่านั้น เป็นความนิยมของชาวตะวันออก
  • ๒๖. ผมของชาวสยามมีสีดำ เส้นหยาบและเหยียด ทั้งชายหญิงไว้ผมสั้นมาก ยาวมาเสมอใบหูเท่านั้น ต่ำกว่านั้นจะตัดเกือบเกรียนติดหนังศีรษะ พวกผู้หญิงหัวผมตั้งไว้บนหน้าผากโดยมิได้รวบเกล้ากระหมวด บางคนส่วนมากเป็นชาวรามัญ ปล่อยให้ผมยาวไปข้างหลังพอประมาณ เพื่อขมวดเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย ชายหนุ่มและหญิงสาวที่อยู่ในวัยมีเรือนได้แล้วก็ไว้ผม แปลกไปอีกทำนองหนึ่งคือ ใช้กรรไกรหนีบตัดผมกลางกระหม่อมเสียสั้นเกรียน รอบเรือนผมเขาถอนออกมาเป็นกระจุกเล็กๆ กระจุกหนึ่ง ทางด้านล่างปล่อยให้ออกยาวไปเกือบประบ่า
  • ๒๗.รสนิยมของชาวสยามที่มีต่อหญิงผิวขาว ภาพวาดสตีรีงามบางคนแห่งราชสำนัก (ฝรั่งเศส) ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของชาวสยามมาก พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงมีหญิงสาวชาวมิลเกรเลียน หรือชอร์เชียน โดยรับสั่งให้ซื้อมาจากประเทศเปอร์เชีย (มาเป็นบาทบริจาริกา) และชาวสยามที่มาฝรั่งเศสสารภาพว่า ผู้หญิงฝรั่งเศสนั้นสวยมาก ไม่มีหญิงชาวสยามคนใดทัดเทียมได้
  • ๒๘. ชาวสยามเป็นคนสะอาดสะอ้านมาก ชาวสยามนุ่งห่มน้อย และอบรำร่างกายด้วยสุคนธรส ริมฝีปากก็สีขี้ผึ้งหอม อาบน้ำวันละ ๓ - ๔ ครั้ง ถือเป็นความสุภาพเรียบร้อยว่า จะไปเยี่ยมผู้ใดในรายที่สำคัญ ต้องอาบน้ำเสียก่อน และจะประแป้งให้ขาวพร้อมที่ยอดอก แสดงว่าได้อาบน้ำมาแล้ว
  • ๒๙. วิธีอาบน้ำสองอย่าง วิธีหนึ่งลงไปแช่น้ำ อีกวิธีหนึ่งใช้ขันตักน้ำรดร่างกาย
  • ๓๐. การรักษาความสะอาดฟันและผม ชาวสยามเอาใจใส่รักษาฟันมาก แม้จะย้อมดำแล้วก็ตาม เขาสระผมด้วยน้ำ และใส่น้ำมันจันทน์ ทำนองเดียวกับชาวเสปนแล้วไม่ผัดแป้งเลย ชาวสยามหวีผม หวีมาจากประเทศจีน ชาวสยามถอนเคราซึ่งมีอยู่หร็อมแหร็ม แต่ไม่ทำเล็บเลย เพียงแต่รักษาให้สะอาด
  • ๓๑. ชาวสยามชอบไว้เล็บยาว เราได้เห็นนางละครชาวสยามที่จะให้งามเกินงาม สวมเล็บที่ทำด้วยทองเหลืองยาวมาก
ตอนที่ ๑ เครื่องนุ่งห่ม และรูปร่างหน้าตาของชาวสยามhttps://www.facebook.com/Signnagas/posts/731437163639848:0
ตอนที่ ๒ บ้านเรือนของชาวสยาม และฝีมือการก่อสร้าง
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/732067013576863:0
ตอนที่ ๓ เครื่องเรือนของชาวสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/733326163450948:0
ตอนที่ ๔ สำรับกับข้าวของชาวสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/734108796706018:0
ตอนที่ ๕ รถและยานพาหนะทั่วไปของชาวสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas/posts/735225446594353:0
หมายเหตุ
  • - จากภาพหญิงชาวสยามช่วงแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ที่ยังมีการห่มสไบในชีวิตประจำวันอยู่
  • - ลอมพอก คือ หมวกสำหรับขุนนางไทยที่นิยมใช้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำด้วยผ้าสีขาวที่พันพับเป็นทรงหมวกยอดแหลมอย่างประณีต ขอบลอมพอกมีเครื่องประดับแสดงชั้นยศขุนนางผู้สวม เช่น ขุนนางชั้นสูงประดับขอบลอมพอกด้วยดอกไม้ไหว (ดอกไม้ทำด้วยทองคำฝังอัญมณี) ส่วนขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้นต่ำลงมาสวมลอมพอกที่มีขอบประดับด้วยเกี้ยวทองคำ สันนิษฐานว่า รูปแบบของลอมพอกได้รับแรงบันดาลใจจากผ้าโพกศรีษะของชาวเปอร์เซีย ผสมผสานกับรูปแบบชฎาของไทย ครั้งคณะราชทูตสยามไปถึงฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๒๒๙ ได้สวมเครื่องแต่งกายแบบสยาม ซึ่งเป็นที่ดึงดูดความสนใจจากชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสวมลอมพอก
  • - สามารถชมลอมพอกได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี เปิดให้เข้าชม วันพุธ-อาทิตย์ เวลา 9.00-16.00 น.
  • ส่วนโบราณสถานพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เปิดให้เข้าชม วันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 07.00-17.30 น. อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3641 1458
  • - มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ได้ออกเดินทางจากท่าเรือเมือง เบรสต์ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๓๐ มาทอดสมอที่กรุงสยาม เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๒๓๐ เดินทางกลับเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๒๓๑ ขึ้นบกที่ท่าเรือเมืองเบรสต์ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๑
  • ความมุ่งหมายในการเขียน เพ่งเล็งในด้านอาณาเขต ความอุดมสมบูรณ์ คุณภาพของดินในการกสิกรรม ภูมิอากาศเป็นประการแรก ต่อมาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีโดยทั่ว ๆ ไป และเฉพาะเรื่องเฉพาะราย เรื่องเกี่ยวกับรัฐบาล และศาสนาจะกล่าวในตอนท้าย และได้รวบรวมบันทึกความทรงจำ เกี่ยวกับประเทศนี้ ที่เขาได้นำติดตัวมาด้วยไปผนวกไว้ตอนท้าย และเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักชาวสยามโดยแจ่มชัด จึงได้เอาความรู้เกี่ยวกับอินเดีย และจีนหลายประการมาประกอบด้วย นอกจากนั้นยังได้แถลงว่าจะต้องสืบเสาะให้รู้เรื่องราว พิจารณาสอบถาม ศึกษาให้ถึงแก่นเท่าที่จะทำได้ ก่อนเดินทางไปถึงประเทศสยาม ได้อ่านจดหมายเหตุทั้งเก่าและใหม่ บรรดาที่มีผู้เขียนขึ้นไว้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นตะวันออก ถ้าไม่มีสิ่งดังกล่าว เขาอาจใช้เวลาสักสามปี ก็คงไม่ได้ข้อสังเกต และรู้จักประเทศสยามดี
  • ทำอย่างไรถึงจะได้รับข้อความที่ทางเพจโพสทุกครั้ง ... กดคำว่า “ถูกใจ” แล้ว ใต้ “ภาพหน้าปก” จะมีคำว่า “รับการแจ้งเตือน” ให้กดที่คำนี้ จนเห็นเครื่องหมาย ‘ถูก’ ปรากฎขึ้น เพียงเท่านี้ คุณก็จะไม่พลาดข้อความดีๆอีกต่อไป

fb: นิทรรศการพลังแผ่นดิน
อัศจรรย์งานศิลป์ แผ่นดินสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น