วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

57.การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทยสมัยรัตนโกสินทร์

การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทยสมัยรัตนโกสินทร์
1x42.gif
ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่โดดเด่นเกิดขึ้นมากมาย ที่สำคัญยังเป็นยุคสมัยแห่งการปฏิรูปทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชนชาติไทยเมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกแทนที่ด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในการปฏิวัติสยาม ปีพ.ศ. 2475 ด้วย
การสร้างสรรค์ผลงานด้านภูมิปัญญาในสมัยรัตนโกสินทร์มีตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้    
1. การสร้างราชธานีโดยคำนึงถึงความได้เปรียบทางด้านยุทธศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่ากรุงธนบุรีเป็นเมืองอกแตกที่มีแม่น้ำผ่ากลาง ทำให้ยากแก่การป้องกันรักษาพระนครเวลาข้าศึกบุก ในขณะที่ทางฝั่งตะวันออกเป็นทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพราะเป็นที่หัวแหลม ถ้าสร้างเมืองแต่เพียงฟากเดียว
จะได้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมืองทั้งด้านตะวันตกและด้านใต้ เพียงแค่ทำการขุดคลองอีก 2 ด้านก็จะได้คูเมืองทั้ง 4 ทิศ นับเป็นกำแพงเมืองธรรมชาติสำหรับตั้งรับข้าศึกศัตรูในภาวะสงครามได้เป็นอย่างดี
2. การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแพทย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธารามหรือวัดโพธิ์ขึ้นเป็นอารามหลวงโดยให้ชื่อว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” และโปรดเกล้าฯให้รวบรวมจารึกตำรายา ท่าฤาษีดัดตนและตำรับการนวดแผนโบราณไว้ตามศาลาราย ส่งผลให้วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามได้รับการขนานนามให้เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์วันพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีกครั้งในรัชสมัยของพระองค์ นอกจากนี้ยังทรงอนุญาตให้มิชชั่นนารีจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือที่คนไทยเรียกว่าหมอบรัดเลย์ นำการแพทย์แบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่
ซึ่งหมอบรัดเลย์ได้ทำการผ่าตัดแผนใหม่และปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชได้โปรดเกล้าฯจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราชขึ้นเพื่อทำการบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ โดยมีทั้งแพทย์แผนโบราณของไทยและแพทย์ฝรั่งร่วมทำการรักษาด้วย
3. การสร้างพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงระดมช่างฝีมือซึ่งหลงเหลืออยู่ในเวลานั้นมาสร้างพระราชวังใหม่ที่ยิ่งใหญ่เพื่อเป็นศูนย์กลางราชธานีโดยให้เป็นไปตามแบบของกรุงศรีอยุธยายุครุ่งเรือง อีกทั้งยังมีพระราชดำริให้สร้างพระอารามในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยด้วย
4. ความเฟื่องฟูทางวรรณกรรมและศิลปกรรม รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทองของศิลปะรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นกษัตริย์ผู้ทรงใฝ่พระทัยในงานศิลปะ ทั้งทางด้านวิจิตรศิลป์และวรรณคดี  นอกจากพระองค์จะทรงสร้างและบูรณะวัดวาอารามจำนวนมากแล้ว ยังทรงพระอัจฉริยภาพในทางกวี โดยเฉพาะการแต่งบทละครทั้งละครในและละครนอก พระราชนิพนธ์ชิ้นสำคัญของพระองค์ ได้แก่ บทละครเรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์ ซึ่งทรงนำมาแต่งใหม่เพื่อให้ใช้ในการแสดงได้ นอกจากจะทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นองค์อุปถัมภ์บรรดาศิลปินและกวีด้วย ยุคนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยที่กวีนิพนธ์เจริญรุ่งเรืองสูงสุด สำหรับกวีเอกคนสำคัญในรัชกาลของพระองค์ก็คือพระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่คนไทยทั่วไปเรียกว่าสุนทรภู่  
5. การปฏิรูปการเมืองการปกครองแผ่นดิน รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประเทศไทย เนื่องจากพระองค์ได้ทรงปฏิรูปสังคมขนานใหญ่ ตั้งแต่ทรงยกเลิกระบบทาสและการเกณฑ์แรงงานไพร่ และหันมาใช้ระบบการเก็บภาษีรัชชูปการแทน นอกจากนี้ยังทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคด้วยการยกเลิกระบบหัวเมืองแบบเก่า อันได้แก่ หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอกและเมืองประเทศราช โดยเปลี่ยนเป็นการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลแทน ระบบมณฑลเทศาภิบาลดังกล่าวส่งผลให้สยามกลายเป็นรัฐชาติที่มีเขตแดนชัดเจนแน่นอน และมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น